วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558



ชื่อเรื่องวิจัย                          ผลการใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพและสุขภาพจิตในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาแพทย์
เลขทะเบียน                         19
ชื่อผู้วิจัย                               ศาสตราจารย์เกษม วัฒนชัย
วันเดือนปีที่ทำวิจัยสำเร็จ     2538
สถาบันวิจัย                           สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
              การวิจัยนี้เป็นการศึกษาความตรงเชิงพยากรณ์ของแบบวัดบุคลิกภาพ MMPI (Minnesota Multiphasic Personality Inventory) ฉบับภาษาไทยในนักศึกษาแพทย์ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประจำปีการศึกษา 2529 กลุ่มประชากรเป็นนิสิตนักศึกษาที่สอบผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสถานศึกษาในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 8 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น                                    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในปีการศึกษา 2529 และทุกคนสำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 492 คน แบ่งเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ชาย 365 คน และนิสิตนักศึกษาแพทย์หญิง 127 คน
              เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1.แบบวัดบุคลิกภาพ MMPI ฉบับภาษาไทยชองลออ พงษ์พานิช แปลมาจากแบบวัด MMPI ที่สร้างขึ้นโดย Starke R. Hathaway, Ph. D และ J. Charnley McKinley, M.D. แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา และนำมาใช้หลังจากได้รับอนุญาตจากสมาคมนักจิตวิทยาอเมริกันให้นำมาใช้ได้ โดยตีพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2523 2.เครื่องมือที่ใช้ติดตามผล ได้แก่ แบบสำรวจปัญหาบุคลิกภาพและสุขภาพจิต เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่คณะอนุกรรมการฯ ได้สร้างขึ้นและได้จัดส่งไปนิสิตนักศึกษาแพทย์เป็นผู้ตอบกลับมา 3.รายงานการประเมินผลภาวะทางสุขภาพจิตและปัญหาในนักศึกษาแพทย์จากหน่วยงานการศึกษาของแต่ละสถาบัน 4.ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาแพทย์ในปีการศึกษา 2534 ซึ่งเป็นปีที่จบการศึกษา
              การวิเคราะห์ผลทำโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPAA/PC คำนวณคะแนนเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มนิสิตนักศึกษา จำแนกตามปัญหาต่างๆเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปัญหาการปรับตัว และปัญหาทุจริตในการสอบ นอกจากนั้น ยังจำแนกผลการเรียนออกเป็นกลุ่มที่มีผลการเรียนดี (GPA ตั้งแต่3.00 ขึ้นไป) และเรียนพอใช้ถึงเรียนอ่อน (GPA ตั้งแต่ 2.50 ลงไป) และนำไปสร้างเส้นภาพเปรียบเทียบกลุ่มที่ไม่มีปัญหากับกลุ่มที่มีปัญหา และกลุ่มเรียนที่เรียนดีกับกลุ่มที่เรียนพอใช้ลงไปของแต่ละสถาบัน ผลการวิจัยพบว่า MMPI มีความแม่นตรงเชิงพยากรณ์เนื่องจากรูปแบบการตอบ MMPI ของนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่จบการศึกษาทั้งหมดมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในด้านคุณภาพของคำตอบ พบว่านิสิตนนักศึกษาแพทย์กลุ่มศึกษาทั้งหมดมีรูปแบบการตอบเด่นในมาตร 7(Psychastenia) 8(Schizophrenia) 4(Psychopathic deviate) และ 1(Hypochondriasis) ซึ่งแสดงถึงลักษณะระมัดระวังในสิ่งที่ทำเพราะต้องการความถูกต้อง สมบูรณ์และมีมโนธรรม มีความคาดหวัง ค่อนข้างสนใจเรื่องของตัวเอง และกระตือรือร้นเฉพาะเรื่องที่สนใจ จนอาจจะขาดทักษะทางสังคม มีแนวโน้มของการย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล หรือเครียดง่าย แต่ก็มีความจริงใจ อย่างไรก็ตามได้พบความแตกต่างที่น่าสนใจเรียนระดับพอใช้ลงไป กล่าวคือ แม้รูปแบบของเส้นภาพ MMPI จะคล้ายกันแต่ระดับคะแนนแต่ละมาตรของกลุ่มต่างๆมีความแตกต่างกัน