วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 

ชื่อวิทยานิพนธ์   ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวของข้าราชการตำรวจหลังเกษียณอายุราชการในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขทะเบียน          122
ชื่อผู้วิจัย            พ.ต.ท.หญิง ดวงสมร เห่ววิพัฒน์
วันเดือนปีที่ทำวิจัยสำเร็จ    2542
สถาบันวิจัย     มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
บทคัดย่อ          
เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น ย่อมจะมีผลกระทบต่อการยอมรับสภาพในการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา และเมื่อร่างกายเสื่อมสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้สูงอายุจะมีความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่าต่อครอบครัวและสังคม แพท (Plath. 1972 : 16 ; ประพิมพ์ดาว สุคนธ์. 2527 : 151) จนถึงขึ้นที่ทำให้ผู้สูงอายุบางคนคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งสอดคล้องกันจากการศึกษาของเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม และปราโมทย์ ประสาทกุล (2530 : 10 - 13) ที่ได้ศึกษาแนวโน้มของการทำอัตวินิบาตกรรมของประชากรไทย จากสถิติที่บันทึกไว้ของโรงพยาบาลรามาธิบดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชายและสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอีกอย่างหนึ่งคือ การสูญเสียคู่ชีวิต แอชเลย์ (Atchley. 1973 : 110) การขาดเพื่อน (นิศา ชูโต. 2525 : 45) ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้สูงอายุที่เกษียณอายุกับผู้สูงอายุที่ยังทำงาน จะพบว่าผู้เกษียณอายุมีขวัญและกำลังใจต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงาน เกย์ (Gayle. 1987 : 19) ในเรื่องของปัญหาการเกษียณอายุนี้ พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ และคนอื่นๆ (2553 : 146 - 148) ศึกษาพบว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญขอบคนชราไทยปัญหาหนึ่งที่ส่งผล กระทบต่อจิตใจของผู้สูงอายุมากโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มียศสูง จะกลัวการปลดเกษียณและมีความรู้สึกสูญเสียมากกว่าผู้ที่มียศต่ำ นอกจากนั้น เทอร์เนอร์ และเฮลม์ (Turner and Helms. 1983 : 44-45) ได้ศึกษาพบว่าการเกษียณอายุมีผลทำให้ความรับผิดชอบ อำนาจ สถานภาพ และสัมพันธภาพทางสังคม ตลอดจนความมั่นใจความภาคภูมิใจในตนเองของผู้สูงอายุลดลงจนทำให้เกิดความเครัยดแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก