วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 

ชื่อวิทยานิพนธ์    ศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาชีวิตไทยในกวีนิพนธ์กรุงรัตนโกสินทร์
เลขทะเบียน          05
ชื่อผู้วิจัย               พระมหาเทิด ญาณวชิโร (วงศ์ชะอุ่ม)
วันเดือนปีที่ทำวิจัยสำเร็จ    2545
สถาบันวิจัย          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ          
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งแสดงภาพแนวคิดเชิงปรัชญาที่คนไทยแสดงออกผ่านงานกวีนิพนธ์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 ในการศึกษาได้กำหนดลักษณะพื้นฐานแนวคิดของคนไทยไว้ 4 ลักษณะ คือ (1) ปรัชญาชีวิตไทยลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (2) ปรัชญาชีวิตไทยมีลักษณะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ขวัญและลางสังหรณ์ (3) ปรัชญาชีวิตไทยเกิดจากอิทธิพลทางศาสนา และ (4) ปรัชญาชีวิตไทย เน้นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
                ลักษณะพื้นฐานแนวคิดทั้ง 4 ประการนี้เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างแนวคิดเชิงปรัชญาไทย ปรากฏอยู่ในวรรณคดีทั่วๆ ไป ทั้งวรรณดีมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์ สำหรับกวีนิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีลายลักษณ์ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพันธ์กิจหลักในการตอบสนองความต้องการด้านสุนทรียะมีถานะเป็นเครื่องมือบันทึกความรู้สึกนึกคิดที่มนุษย์มีต่อชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง เชื่อมโยงครอบคลุมมิติทางความคิดระบบต่างๆไว้ทุกด้าน พิจารณาความสืบเนื่องทางด้านแนวคิดกวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบแนวคิดมาจากกวีนิพนธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาหากก่อตัวขึ้นใหม่ในบริบทแห่งการฟื้นฟูสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงเนื้อหาที่กวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสืบต่อมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยพิจารณาจาก 3 ประการ ดังนี้ (1) รูปแบบกวีนิพนธ์ ได้แก่ รูปแบบทางการประพันธ์ที่กวีกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประพันธ์ขึ้น โดยยึดกรอบแห่งฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างกวีกรุงศรีอยุธยา (2) เนื้อหากวีนิพนธ์ ได้แก่ เนื้องานกวีนิพนธ์ในยุคนี้มักดำเนินตามเนื้อเรื่องชาดกเป็นหลัก ตามขนบการประพันธ์ของกวีสมัยกรุงศรีอยุธยา และ (3) แนวคิดกวีนิพนธ์ ได้แก่ การสอแทรกแนวคิด ทัศนคติ อุดมคติของกวีในเนื้อหาหรือคำพูดของตัวละคร ตลอดจนการวิพากย์วิจารณ์สังคมและสรรพสิ่งตามที่กวีต้องการนำเสนอ