วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 

ชื่อวิทยานิพนธ์   การระบุเนื้อเยื่อสมองโดยใช้ซีพีจีเมทิเลชันตำแหน่งจำเพาะ
เลขทะเบียน          0001
ชื่อผู้วิจัย            ว่าที่ร.ต.อ.หญิงจรัญญา สามสุวรรณ
วันเดือนปีที่ทำวิจัยสำเร็จ    2556
สถาบันวิจัย     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ          
ดีเอ็นเอเมทิเลชันคือหนึ่งในพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม เกิดขึ้นในตำแหน่งที่เป็นซีพีจีไดนิวคลีโอไทด์ พบกระจายอยู่ทั่วทั้งจีโนมมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงชนิดของเซลล์เพื่อการทำหน้าที่เฉพาะ เป็นผลให้ดีเอ็นเอเมทิเลชันมีความแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ ดังนั้นจึงมีการศึกษาหาตำแหน่งซีพีจีเมทิเลชันที่จำเพาะต่ออวัยวะที่สำคัญต่อการมีชีวิต โดยมีความมุ่งหวังเพื่อใช้ซีพีจีเมทิเลชันตำแหน่งจำเพาะนั้นในการระบุเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นวัตถุพยานจากสถานที่เกิดเหตุ ด้วยเหตุผลคือ นอกจากดีเอ็นเอเมทิเลขันจะมีความจำเพาะแล้วยังมีความเสถียรสามารถตรวจสอบได้แม้ในวัตถุพยานที่เสื่อมสภาพ โดยผลการตรวจสอบจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวน ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ริเริ่มทำในหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญต่อการมีชีวิตนั่นคือ สมอง โดยค้นหาจากฐานข้อมูลดีเอ็นเอเมทิเลชันที่รวบรวมงานทดลองในรูปเมทิเลชันไมโครแอเรย์ จำนวน 39 การทดลอง มีตำแหน่งซีพีจีเมทิเลชันจำนวน 27,578 ตำแหน่ง คัดเลือกได้ตำแหน่ง cg02096975 ยีน EML2 ที่แสดงความจำเพาะต่อสมองเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอเมทิเลชันสำหรับระบุเนื้อเยื่อสมองในงานวิจัยนี้ ใช้เทคนิค COBRA ในการตรวจวิเคราะห์ โดยทำในเนื้อเยื่อสมองเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆอีก 17 ชนิด ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าที่ตำแหน่งดังกล่าวมีเพียงดีเอ็นเอจากสมองเท่านั้นที่แสดงค่าเป็นเมทิเลชัน แต่ในอวัยวะอื่นแสดงไม่เป็นผลเมทิเลชัน ทำให้เครื่องหมายดีเอ็นเอตำแหน่งนี้มีความแม่นยำในการระบุเนื้อเยื่อสมอง 100 เปอร์เซ็น นอกจากนั้นยังทำการทดลองเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของเทคนิค COBRA ต่อการระบุเนื้อเยื่อสมองในตัวอย่างที่มีสภาพต่างๆกัน เพื่อเทียบเคียงกับตัวอย่างที่พบในสถานที่เกิดเหตุ และผลที่ได้จากการทดลองพบว่า COBRA เป็นเทคนิคที่มีความจำเพาะและความไวสูง และมีขั้นตอนการทำที่รวดเร็ด สามารถตรวจสอบได้แม้ในวัตถุพยานที่เสื่อมสภาพ ซึ่งผลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้กับงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์